ความเหมือนที่แตกต่าง "ตลาดสีเขียว" 

เราคงเคยได้ยินได้เห็นตลาดสุขภาพหลายที่ ซึงก็มีร้านค้า เกษตรกร ผู้ผลิต ตามงานต่างๆ   แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า สินค้าในตลาดนั้นๆ เป็นสินค้าที่รักษาสุขภาพและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างที่เราหวังไว้  

เครือข่ายตลาดสีเขียว ThaiGreen Market จึงมีการกำหนดมาตาฐานPGS เพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้บริโภคในการซื้อสินค้าผลผลิตอย่างปลอดภัยตรงต่อความตั้งใจ ซึ่งระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วมจะมีองค์ประกอบและรายละเอียดอย่างไรบ้าง เราจะเรียนรู้ไปเป็นตอนๆ 

ตอนที่1 ระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วม Participatory guarantee Systems
(PGS ThaiGreenMarket)  

คือ ระบบการมีส่วนร่วมกันของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรต่างๆ จัดตั้งเป็นคณะกรรมการขึ้นภายในเครือข่ายฯ ด้วยกลไกการทำงานแบบมีส่วนร่วมที่สร้างความเชื่อมั่น ความเป็นธรรมและโปร่งใสกับผู้บริโภค โดยมีกระบวนการตรวจเยี่ยมฟาร์ม สถานประกอบการ เพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาการผลิตให้มีคุณภาพนำไปสู่การรับรองกระบวนการผลิต วัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์และการขนส่งร่วมกัน

องค์ประกอบการของ PGS ThaiGreenMarket คือ

การรับรองผลิตภัณฑ์จากเกษตรอินทรีย์ยึดมาตรฐานการผลิตที่ไม่ใส่สารเคมีและเน้นการดูแลระบบนิเวศเป็นหลัก ด้วยองค์ประกอบการพื้นฐานการทำงาน 6 ข้อ ดังนี้

  1. การมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน – เราจะสร้างเครือข่ายผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้บริโภคอาหารเกษตรอินทรีย์ สินค้าปลอดภัยไร้สารพิษ มีจิตอาสาร่วมสร้างตลาดที่มีจิตสำนึกต่อสังคมอย่างยั่งยืน
  2. การมีส่วนร่วม – การรวมกันสร้างหลักการและมาตรฐานการผลิตแบบมีส่วนร่วมระหว่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรต่างๆ ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในคุณภาพการผลิต
  3. ความโปร่งใส – เกิดขึ้นจากความเข้าใจพื้นฐานระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วม รับรู้ถึงกลไกและกระบวนการในการตรวจรับรองทั้งหมด ซึ่งหมายความว่า ไม่จำเป็นต้องรู้รายละเอียดทุกอย่าง และข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้าต้องมีการปกป้องข้อมูลแต่สามารถการเข้าถึงข้อมูลได้เพื่อความโปร่งใส
  4. ความไว้วางใจ – แนวคิดของระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วม เป็นการตั้งอยู่บนฐานที่ว่า เราไว้วางใจผู้ผลิต ผู้ประกอบการเครือข่ายฯ ได้ และมีการใช้กลไกการควบคุมทางสังคม/วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการตรวจรับรองมาตรฐาน
  5. กระบวนการเรียนรู้ –เป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้เพื่อเป็นเครื่องมือและกลไกการเรียนรู้ให้เกิดความยั่งยืนและการพัฒนาเกษตรอินทรีย์
  6. ความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อน – เป็นการแบ่งปันความรับผิดชอบการตรวจสอบคุณภาพหรือการรับรองร่วมกัน
Share: